โธมัส เอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ฉายา “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก”

          ชาวอเมริกันชื่อ “โธมัส เอลวา เอดิสัน” (Thomas Alva Edison) เป็นยอดนักประดิษฐ์ที่เริ่มประดิษฐ์สิ่งของเมื่อเขามีอายุได้เพียง 10 ขวบ สามารถสร้างเครื่องบันทึกเสียงได้แม้เขาจะเป็นคนหูหนวก และทำงานอย่างขยันขันแข็งค้นคว้าไม่หยุดหย่อน จนมีเวลานอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น เขาได้รับการยกย่องให้เป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เรียนหนังสือมากนัก แต่สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากนอกโรงเรียนและทดลองค้นคว้าด้วยตัวเอง จนมีชื่อเสียงโด่งดัง

          โธมัส เอลวา เอดิสัน เกิดในปี ค.ศ. 1847 ที่มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อเข้าโรงเรียนครูกล่าวว่า เขาไม่สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ ดังนั้นหลังจากเรียนได้สามเดือน บิดามารดาก็ต้องเอาออกจากโรงเรียน แล้วมารดาก็เป็นผู้สอนแทน เธอสอนให้เขาอ่านและเขาก็สนใจอ่านหนังสือเกี่ยวกับเคมีตามที่เขาจะสามารถหาอ่านได้

          พออายุได้ 12 ปี เขาได้ทำงานเป็นเด็กเดินข่าวของรถไฟ ขายหนังสือพิมพ์และผลไม้ เอดิสันหูตึงเพราะถูกพนักงานรถไฟคนหนึ่งกระแทกที่หูอย่างแรง เมื่อเขาทำสารเคมีชนิดหนึ่งหกลงไปจนเกิดไฟลุกในห้องเก็บของ ซึ่งเอดิสันใช้เป็นห้องทำงานและทำการทดลองวิทยาศาสตร์ แต่ตามที่เอดิสันแถลงด้วยตัวเองนั้น เขากลับกล่าวว่า “การที่หูเขาเกิดพิการก็เพราะมีพนักงานรถไฟคนหนึ่งได้ช่วยเหลือเขา โดยจับหูเขาดึงขึ้นมาบนรถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ขณะที่เขาเลื่อนไถลลงไปใต้ท้องรถและจวนเจียนจะถูกล้อทับอยู่แล้ว”

          การที่เอดิสันกลายเป็นคนหูพิการมิได้ช่วยให้เขารอดชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยให้มีเครื่องบันทึกเสียงเกิดขึ้นอีกด้วย จากอุบัติเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ครั้งนั้นทำให้เอดิสันถูกไล่ออกและตกงาน แต่ไม่มีสิ่งใดทำให้เขาท้อแท้ได้ นายสถานีประทับใจในความเฉลียวฉลาดและไหวพริบของเขามาก จึงได้สอนเรื่องการส่งโทรเลขให้ ดังนั้นเมื่อเขาอายุได้ 15 ปี ก็ได้งานเป็นคนส่งโทรเลข เขาได้ประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงในการส่งข่าวโทรเลขในปี ค.ศ.1889

          ขณะอายุ 21 ปี และได้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเขา เอดิสันได้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ของเขามากกว่า 1,200 อย่าง เขาได้ประดิษฐ์สิ่งสำคัญขึ้นหลายอย่างเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า ความจริงเขาเป็นคนที่มีทักษะที่จะปฎิบัติตามความคิดใหม่ๆ ได้ทุกอย่าง

          เราระลึกถึงเอดิสันในเรื่องแสงไฟฟ้า เพราะขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในการให้แสงสว่างในบ้านธรรมดาได้ เนื่องจากยังไม่มีหลอดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ภายในบ้านยังต้องใช้เทียนหรือตะเกียงน้ำมัน และประมาณปี ค.ศ.1850 จึงเริ่มใช้ก๊าซ ตอนต้นศตวรรษที่ 19 เซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี่ ได้ประดิษฐ์ตะเกียงที่ทำให้เกิดแสงโดยผ่านกระแสไฟฟ้าไปยังแท่งคาร์บอน 2 แท่ง ทำให้เกิดความสว่างขึ้น แต่ก็ใช้ให้แสงสว่างบนท้องถนน เนื่องจากมีขนาดใหญ่และเทอะทะ ไม่เหมาะที่จะใช้ในบ้านเรือน

          ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 นักวิทยาศาสตร์โจเซฟ สวอน มาจากเมืองซันเดอร์แลนด์ ได้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรก เขาใช้แท่งคาร์บอนเล็กๆ ติดในกระเปาะแก้ว และทำให้แท่งคาร์บอนร้อนด้วยไฟฟ้า ทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น คาร์บอนไม่เหมือนกับโลหะทั้งหลาย สามารถทำให้ร้อนพอที่จะให้ความสว่างโดยไม่หลอมละลาย แต่หลอดไฟฟ้าของสวอนให้แสงสว่างน้อยเกินไป ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เอดิสันซึ่งทำงานด้านเดียวกับสวอนในสหรัฐอเมริกา มองเห็นที่จะปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของสวอนให้ดีขึ้นได้ ถ้าทำให้หลอดแห้วเป็นสูญญากาศ แท่งคาร์บอนหรือเส้นลวดก็จะเกิดแสงสว่างที่สว่างกว่าเก่า โดยที่ไม่ทำให้หลอดแก้วร้อนเกินไป ดังนั้นเอดิสันและโจเซฟ สวอน จึงได้รับเกียรติร่วมกันในสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญนี้

          เอดิสันได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ กว่า 1,200 ชนิด ผลงานของเขา อาทิเช่น แสงไฟฟ้า หีบเสียง เครื่องบันทึกเสียง ฯลฯ เอดีสันทำงานอย่างขยันขันแข็ง คืนหนึ่งๆ เขานอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ในตอนปลายของชีวิตสุขภาพของเขาทรุดโทรมลงไปมาก และถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1931

ที่มา : บุคคลสำคัญของโลก จาก Msolution

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *