โรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch) ผู้ค้นคว้าในเรื่องของแบคทีเรีย

          “โรเบิร์ต ค็อค” (Robert Koch) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันผู้ค้นคว้าในเรื่องของแบคทีเรีย เป็นผู้ที่แยกเชื้อโรคซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโรคอหิวาต์และวัณโรคได้

          โรเบิร์ต ค็อค เกิดในปี พ.ศ.2386 เขาเป็นแพทย์ที่อยู่ในกลุ่มของผู้บุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาโรคในปัจจุบัน โดยเขาเริ่มศึกษาจากโรคที่เกิดกับแกะ แต่ยังไม่ทราบว่ามันคือเชื้อแอนแทรกซ์ โดยพบว่าเป็นเชื้อโรคที่มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาว

          ดังนั้นค็อคจึงศึกษาต่อด้วยการเพาะเลี้ยง “เชื้อแอนแทรกซ์” นี้ ในอาหารเลี้ยงเชื้อบนสไลด์ทำให้พบว่าเชื้อโรคนี้เจริญเป็นสายยาว รูปร่างเป็นรูปไข่โปร่งแสง และมีสปอร์ที่อยู่ในระยะฟักตัว โดยสปอร์นี้จะอยู่ได้นายหลายปี และสามารถเจริญเติบโตได้เมื่ออยู่ในสภาพเหมาะสม แล้วพัฒนาเป็นแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นแท่งกลม ซึ่งสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของ “โรคแอนแทรกซ์”

          นอกจากนี้ เขายังศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่า สัตว์ชนิดต่างๆ จะมีอาการของโรคแตกต่างกัน และร่างกายของสัตว์ เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงแบคทีเรียให้บริสุทธิ์ได้ดี

          หลังจากนั้น ค็อคมาทำงานที่สถาบันสุขภาพเยอรมัน ในกรุงเบอร์ลิน จึงสร้างห้องทดลองแบคทีเรีย และค้นพบวิธีแยกเชื้อแบคที่เรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ โดยนำเทคนิคการแยกเชื้อมาใช้ศึกษาวัณโรค

          จนกระทั่งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2425 เขาก็สามารถแยกเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรคได้สำเร็จ โดยสกัดสารที่เป็นของเหลวชื่อ “ทูเบอร์คูลิน” (tuberculin) จากแบคทีเรียที่เพาะเลี้ยงไว้ได้ ซึ่งช่วยตรวจสอบได้ว่าเป็นเชื้อวัณโรคหรือไม่

          ระหว่างที่กำลังศึกษาวัณโรค ได้เกิดอหิวาต์ระบาดอย่างรุนแรงในอียิปต์และแพร่สู่ยุโรป ค็อคได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบ ทำให้พบสาเหตุของโรคว่าเกิดจากแบคทีเรีย แต่เขาไม่สามารถหยุดการระบาดได้ ดังนั้นเขาจึงไปที่อินเดีย และได้ค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอหิวาต์ได้สำเร็จ

          นอกจากนี้ ค็อคยังศึกษาโรคอื่นๆ อีก เช่น โรคเรื้อน โรคไวรัสในสัตว์เลี้ยง กาฬโรค ไข้แท็กซัส และมาลาเรีย
โดยวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง จนมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร รวมทั้งปอดยังถูกทำลาย ทำให้ผอมแห้งและเสียชีวิต ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับละออง เสมหะหรือน้ำลายของผู้ป่วย แต่หลังจากมีการค้นพบตัวยาที่ใช้รักษาได้ผลดีและมีวัคซีนฉีดป้องกัน ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคได้ลดน้อยลง

          อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคให้สำเร็จ และได้มีการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคอยู่เสมอ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2541 ได้มีการจัดการประชุมที่กรุงลอนดอน โดยกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันวัณโรคโลก” (World TB Day) เพื่อให้ทุกประเทศ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านไม่ให้วัณโรคกลับมาระบาดเป็นโรคติดต่อเหมือนที่ผ่านมา

          คอคได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มสาขาวิชาจุลชีววิทยาสมัยใหม่ ร่วมกับคู่แข่งของเขาที่ปารีส คือ “หลุยส์ ปาสเตอร์” คอคเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาการติดเชื้อและก่อตั้งสาขาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อนในเยอรมัน โรเบิร์ต ค็อค ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2453

ที่มา : บุคคลสำคัญของโลก จาก Msolution

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *