ประวัติศาสตร์แท็กซี่ประเทศไทย

 

          สมัยก่อนเวลาจะเรียกใช้บริการแท็กซี่นี้ต้องคุยกันเยอะหน่อย กว่าล้อจะหมุนนี้ต้องใช้เวลาคุยนานหน่อย เพราะว่าไม่มีมิเตอร์ให้กดอย่างในปัจจุับัน พอมาเวลานี้รถรุ่นเก่าๆ แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว แม้ว่ากระทั่งจะจอดตายอยู่ก็ตาม ผมตั้งใจสร้างบล็อกนี้เพราะต้องการจะถ่ายทอดเรื่องของรถแท็กซี่ของไทยในอดีตให้คนรุ่นใหม่ได้รับทราบประวัติความเป็นมากันไว้บ้าง เผื่อจะเล่าให้หลานๆ เหลนๆ เขาฟังกัน

แท็กซี่

          “แท็กซี่” (Taxi) เป็นการโดยสารสาธารณะประเภทหนึ่งสำหรับผู้โดยสารคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ รถแท็กซี่เป็นยานพาหนะไว้สำหรับว่าจ้างโดยผู้ขับจะส่งผู้โดยสารระหว่างที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งตามที่ผู้โดยสารอยากจะไป

          “แท็กซี่” เป็นคำย่อมาจาก “แท็กซี่แค็บ” (Taxicab) คิดค้นโดย “แฮร์รี่ เอ็น อัลเลน” นักธุรกิจชาวนิวยอร์กที่นำเข้ารถแท็กซี่มาจากฝรั่งเศส โดยย่อมาจากคำว่า” แท็กซี่มิเตอร์ แค็บ” (Taximeter cab) อีกที

          ส่วนคำว่า “cab” มาจากคำว่า “cabriolet” คือรถม้าลากจูง และคำว่า “taxi” เป็นรากศัพท์ภาษาละตินในยุคกลาง ซึ่งมาจากคำว่า “taxa” ที่หมายถึงภาษีหรือการคิดเงิน และคำว่า “meter” มาจากภาษากรีกคำว่า “metron” แปลว่า “วัดระยะทาง”

รถแท็กซี่คันแรกของเมืองไทย

          รถแท็กซี่เมืองไทยมีวิวัฒนาการที่น่าสนใจไม่น้อย คุณเทพชู  ทับทอง ได้เขียนเล่าไว้ว่า คำว่า “แท็กซี่” เพิ่งจะมาได้ยินเมื่อ 20 – 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ก่อนชาวพระนครเรียกรถแท็กซี่ว่า “รถไมล์” เมื่อราว พ.ศ. 2467  –  2468 พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา (ผาด) เป็นผู้เริ่มกำหนด “แท็กซี่” ครั้งแรกในเมืองไทย โดยนำเอารถยี่ห้อออสตินขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้าข้างหลังของตัวรถ ซึ่งคนขับรถในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นพวกทหารอาสา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

          สำหรับค่าโดยสารคิดเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ 15 สตางค์ ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน 

          รถแท็กซี่ในสมัยบุกเบิกใหม่ๆ นั้น มีอยู่เพียง 14 คัน ในปี 2469 แต่ถึงมีจำนวนน้อย ก็ประสบปัญหาการขาดทุน จนต้องเลิกกิจการ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าค่าโดยสารแพง ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่นๆ เช่นรถเจ็กอยู่มาก และราคาถูก

          หลังจากเลิกกิจการไปแล้ว กรุงเทพฯ ก็ไม่มีรถแท็กซี่อีกเลย จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2490 มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่ ซึ่งได้รับความนิยมจนมีการจัดตั้งเป็นบริษัทเดินรถแท็กซี่ขึ้นมา ใน 3 – 4 ปีต่อมา โดยคิดค่าโดยสารกิโลเมตรละ 2 บาท รถที่นำมาบริการในช่วงนั้นเป็นรถยี่ห้อเรโนลต์ เครื่องท้ายคันเล็กๆ

          คุณเทพชูฯ บอกว่า คนกรุงเทพฯ สมัยนั้นเรียกแท็กซี่ว่า “เรโนลต์” ซึ่งเป็นจุดเริ่มความสำเร็จของการเดินรถแท็กซี่ เพราะเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เนื่องจากยังมีรถจำนวนน้อย คนนิยมนั่ง สะดวก รวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมาก จนระบาดไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถมาจนถึงปัจจุบัน

          สำหรับรถที่นำมาเป็นรถแท็กซี่นั้น หลังจากเรโนลต์เริ่มเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานแล้ว ได้มีการนำรถออสตินแวนสองประตูสีเทามาใช้แทน ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นรถดัทสันบลูเบิดหรือรถเก๋งฮีโน่ เครื่องท้ายตามกำลังทรัพย์ของแต่ละบริษัทจนกระทั่งเป็นรถโตโยต้า รถแลนเซอร์แชมป์ เนื่องจากรถแท็กซี่นั้นบุคคลธรรมดาอาจเป็นเจ้าของได้ บางครั้งจึงอาจพบเห็นรถแท็กซี่ที่ใช้รถฮอนด้าหรือรถเปอร์โยต์นำมาเป็นรถแท็กซี่ด้วย สำหรับรถแท็กซี่ในเมืองไทยในปัจจุบันเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์ และมีวิทยุสื่อสาร

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก :: http://thailandtaxiservices.blogspot.com/2013/03/blog-post.html

ภาพประกอบจาก : http://toyota-thai-taxi.blogspot.com/2013/01/blog-post.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *